จะว่าไปแล้ว การ แต่งรถ ก็เป็นเรื่องของความชอบส่วนตัว ปนความจำเป็นในการใช้งานนะครับ หลายๆ คนชอบความเร็ว หลายๆ คนชอบความบึกบึนฝ่าน้ำฝ่าทะเลได้ รถจากโรงงานดีก็จริง แต่จะใช้ให้ได้ดังใจบางทีก็ต้องมีเติมเสริมแต่งกันบ้างเป็นธรรมดา หลายคนอาจจะได้แรงบันดาลใจจากภาพยนตร์ แต่จะยังไงก็ตาม บ้านเราจะแต่งเติมยังไง เสียเงินเท่าไหร่ อีกอย่างที่ต้องระวังก็คือการเสียเงินให้รัฐบาล เป็นค่าปรับนั่นเองครับ
รถซิ่ง รถแต่ง จะยกสูง โหลดเตี้ย โมเครื่องแรง โมเครื่องเสียดัง ติดไฟใต้รถ ระเบิดท่อไอเสีย จะขับผ่านด่านทีไรก็ต้องเสียวสันหลังว่าจะโดนเรียกจอดมั้ย จะโดนปรับเพราะดัดแปลงรถยนต์หรือไม่ วันนี้เรามาดู ข้อควรระวังสำหรับรถยนต์ตกแต่งทั้งหลายกันดีกว่าครับ ว่าแบบไหนถูกกฎหมาย แบบไหนจะถูกจับ
1. ใช้ป้ายทะเบียนยาว
สมัยนี้เห็นฮิตๆ กัน ป้ายทะเบียนยาวๆ แบบเมืองนอกใช้ สวยดี เท่ดี ก็เอาป้ายทะเบียนที่ออกให้โดยกรมการขนส่งทางบกมาตัดอัดกรอบใหม่ซะ ผิดกฎหมายนะครับ สามารถโดยข้อหาดัดแปลงสภาพป้ายทะเบียนได้ โดยถือเป็นการเปลี่ยนสภาพเอกสารทางราชการ โดยปรับได้ไม่เกิน 2,000 บาท แล้วหากติดป้ายเอียง มองไม่ชัด มีอะไรมาทับปิดตัวเลขป้าย ทำให้เห็นตัวเลขป้ายทะเบียนไม่ชัด หรือวางไว้หน้ากระจกมีสิทธิ์โดนปรับอีก 500 บาทครับ
ติดป้ายทะเบียนที่ทำขึ้นเอง ไม่ว่าจะเป็นกระดาษพิมพ์ เขียนเอง ก็จะผิดข้อหาไม่ใช้เอกสารที่ราชการกำหนด แต่หากเป็นป้ายปลอมที่ทำขึ้นเอง ไม่มีตราประทับของกรมการขนส่งทางบก หากตำรวจขอตรวจสำเนาแล้วเลขไม่ตรงกับป้าย ถือเป็นคดีปลอมแปลงเอกสารราชการ โทษปรับ 100,000 บาท
หากเลขไม่ตรงกับป้ายวงกลม ไม่ตรงกับสำเนารถ ผู้ขับขี่จะต้องไปให้ปากคำที่สถานีตำรวจ เพื่อทำการรวบรวมสำนวนและส่งต่อให้ศาลตัดสินค่าปรับ ซึ่งค่าปรับอาจจะสูงถึงหลักแสนหลักล้านก็ได้ทีเดียว
2. โหลดเตี้ย
คิดว่าคงเป็นความเข้าใจของคนใช้รถยนต์ว่า อาจจะยึดเกาะกับถนได้ดีกว่าเดิม หรือดูเท่กว่าเดิม จะว่าจริงก็ส่วนหนึ่ง การยึดเกาะที่ดี เกิดจากการมีช่วงล่างรถยนต์ที่สมบูรณ์ ยางใหม่ สภาพดี แต่กฎหมายเกี่ยวกับการโหลดรถ พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 ระบุชัดเจนว่ารถที่โหลดเตี้ยจะโหลดแค่ไหนก็ได้ แต่วัดจากกึ่งกลางไฟหน้า กับระดับพื้นถนนจะต้องมีระยะไม่ต่ำกว่า 40 เซนติเมตร หากต่ำกว่านั้นถือว่าผิดกฎหมาย หากไฟหน้าสูง แต่รถยนต์ใส่สปอยเลอร์จนแทบลากพื้น เจ้าหน้าที่ตำรวจ นายช่างตรวจสภาพกรมการขนส่งทางบก ผู้วินิจฉัยผล ตรอ. เป็นผู้พิจารณาว่ามีความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ หรือสร้างความเดือดร้อนให้ตนเอง และผู้อื่นหรือไม่ แค่ไหน หากพิจารณาว่าเสี่ยง ก็จะถือว่าผิดได้เช่นกัน
3. บิ้กฟุต เท่สุดๆ
รถออฟโรด ที่สูงกว่ารถเก๋งทั่วไป เพราะว่าต้องบุกป่าฝ่าดง ปีนป่ายขึ้นเขา หากท้องรถสูงไม่พอก็อาจจะติดร่อง ติดหล่มไปต่อไม่ได้ พระราชบัญญัติรถยนต์ระบุว่าวัดจากระดับกึ่งกลางไฟหน้า กับพื้นถนนจะต้องไม่สูงกว่า 135 เซนติเมตร แต่หากไฟหน้าสูงไม่เกินกำหนด แต่รถสูงโต่งมาก มีการดัดแปลงสภาพมาก ทั้งเสริม ทั้งยกตัวถัง การปรับแต่งรถยนต์แบบนี้จะต้องมีหนังสือรับรองจากวิศวกรรองรับ และต้องมีการแจ้งกับกรมการขนส่งทางบกว่าทำการดัดแปลงเพื่อใช้งานในเขตทุรกันดาน แต่หากยกสูงไม่มากนัก ไม่เกินกำหนด แต่ใส่ยางล้นออมาข้างตัวรถจนเกินบังโคลนล้อ ก็ต้องใช้ดุลพินิจอีกเช่นกันว่ามีความเสี่ยงต่อผู้ใช้รถใช้ถนนอื่นๆ หรือไม่ หากตำรวจเห็นว่าเป็นอันตรายก็จะมีความผิดเหมือนกันนะครับ
4. ใส่ล้อเต็มซุ้มเพื่อความหล่อล่ำ
ตามกฎหมายแล้ว ไม่มีการระบุขนาดของล้อรถยนต์ ขนาดล้อรถยนต์ไม่ได้มีผลต่อการเกิดอุบัติเหตุ ดังนั้นจะใส่ล้อขนาดไหนก็สามารถทำได้ แต่ว่าหากใส่แล้วเส้นยางล้นออกมานอกบังโคลนล้อเป็นหลายๆ นิ้วเจ้าหน้าที่เรียกจอด แล้วตรวจพบ พิจารณาแล้วว่าเป็นสิ่งที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ หรือสร้างความเดือดร้อนต่อผู้อื่นได้ ก็ถือว่าผิดได้เช่นกัน การใส่ล้อใหญ่เสียจนต้องแบะล้อหลบซุ้ม นอกจากจะทำให้รถไม่เกาะถนนแล้ว ยังถือเป็นการทำร้ายช่วงล่างรถยนต์อีกด้วย จะทำให้มุมอินเอาท์ผิดเพี้ยนไปจากเดิม ซึ่งจะทำให้ควบคุมล้อรถได้ยากขึ้น ทำให้กินยางมากขึ้น และดูแลรักษารถยนต์ยากอีกด้วย
5. ฝากระโปรงดำ หลังคาคาร์บอนไฟเบอร์
เหล่านักเลงรถมักจะชอบเปลี่ยนฝากระโปรงมาใช้เป็นคาร์บอนไฟเบอร์เพราะมีน้ำหนักเบา แต่สวยหรูดูดี ยิ่งพ่นสีเดียวกับรถก็ถือว่าไม่ผิดกฎหมาย แต่ถ้าเปลี่ยนสีเป็นสีอื่นที่ไม่ตรงกับสีรถ เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถพิจารณาตามกฎได้ ว่ารถยนต์ที่จดทะเบียนมีการระบุสีตัวรถชัดเจนไม่รวมสีกันชนรถ จะต้องมีสีอื่นไม่เกินครึ่งหนึ่งของสีหลักที่จดทะเบียนเอาไว้ หากเจ้าหน้าที่พิจารณาแล้วเกินครึ่ง (หากสีฝากประโปรงหน้า-หลังเป็นสีอื่น ที่ไม่ใช่สีจดทะเบียนของรถ จะถือว่าเกิน 50%) แล้วไม่ได้แจ้งเปลี่ยนสี ว่าเป็นรถสีทูโทน จะถือว่าผิดกฎหมาย มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาทครับ
6. ท่อใหญ่เป็นท่อประปา
จะท่อ 3 นิ้ว หรือ 4 นิ้ว จะหม้อพักกี่ใบ ยังไงหม้อพักจะต้องปล่อยออกท้ายรถเท่านั้น (ยกเว้นรถพ่วง กับรถโดยสารขนาดใหญ่) ถ้าออกข้างตัวถังถือว่าผิดกฎหมายทันที รถยนต์ที่อายุเกิน 7 ปีจะต้องนำรถเข้าตรวจสภาพ เพื่อตรวจวัดระดับเสียงปลายท่อไอเสีย ผลที่ได้จะต้องไม่เกิน 100 เดซิเบล (เครื่องยนต์เบนซิน วัดที่ ¾ รอบที่ให้แรงม้าสูงสุด รอบสูงสุดสำหรับเครื่องยนต์ดีเซล) โทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท
7. ไฟหน้าหลากสี
ไฟขาว ไฟแนวซิ่ง โคมดำ โคมขาว พ่นไฟโคมไฟหน้า-หลัง ตอนนี้จริงๆ แล้วยังไม่มีกฎหมายรอบรับ ถ้าจะติดก็ทำได้นะครับ แต่ว่าหากติดแล้วเข้าเครื่องทดสอบโคมไฟ ลำแสงจะต้องตกเป็นแนวระนาบไม่น้อยกว่า 2 องศา ต้องไม่เบนขวาถึงจะเรียกว่าผ่าน สีโคมไฟหน้า กรมฯกำหนดเอาไว้ 2 สีคือ สีเหลืออ่อน และสีขาว ถ้าเป็นสีอื่นถือว่ามีความผิดตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 12 โทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท ไฟเบรกต้องเป็นสีแดง ไฟเลี้ยวต้องเป็นสีเหลืองอำพัน ไฟส่องป้ายทะเบียนต้องเป็นสีขาวมองเห็นป้ายทะเบียนได้ไม่น้อยกว่า 20 เมตร
8. ติดโรลบาร์ ผิดด้วย?
ตามกฎหมายแล้ว จะมีข้อกำหนดเรื่องจำนวนที่นั่ง มาตราความเร็ว และไฟห้องโดยสาร กฎหมายยังไม่มีกำหนดออกมาเรื่องการติดโรลบาร์ ดังนั้นหากเราต้องการติดก็สามารถทำได้นะครับ แต่การถอดเบาะหลังออกเพื่อติดโรลบาร์ถือว่าผิดกฎหมายว่าด้วยการระบุลักษณะรถยนต์ และจำนวนตอนรถยนต์ รวมถึงความแน่นหนาด้วย ถือว่าผิดกฎหมายครับ ยิ่งถอดเบาะ ตัดตัวถัง แล้วติดโรลบาร์ยึดแบบ Spec Frame ผิดเต็มๆ ข้อหาดัดแปลงสภาพที่มีผลต่อความแข็งแรงของตัวรถยนต์ครับ
9. เปลี่ยนเบาะใส่เข็มขัดนิรภัยยึด 4 จุดแบบรถแข่ง
ที่นั่ง หรือเบาะ ได้มีการะบุขนาดกว้างยาวเอาไว้ด้วย เกี่ยวข้องกับการระบุจำนวนผู้โดยสาร เบาะแต่งส่วนมากจะมีขนาดถูกต้อง แต่หากถอดเบาะออกหรือสั่งทำเบาะใหญ่พิเศษถือว่าผิดกฎหมายครับ ส่วนเข็มขัดนิรภัย ทางกรมฯได้กำหนดมาตรฐานไว้ว่า เบาะที่ติดเข็มขัดนิรภัย 4 จุดถือว่าผิดมาตรฐาน แต่หากยึดแน่นหนาปลอดภัยก็อนุโลมได้ แต่หากใส่เข็มขัดนิรภัย 4 จุด 8 จุด แล้วไม่คาด ถือว่าไม่ผิดพระราชบัญญัตินะครับ แต่ผิดกฎหมาย ถูกจับเสียตังแน่นอนครับ
10. ขยายเครื่อง เปลี่ยนเทอร์โบ โมกล่อง
การวัดกำลังอัดจะหาขนาดความจุได้ยากนะครับ ทางกฎหมายถึงอาศัยการตรวจหมายเลขเครื่องยนต์ว่าถูกต้องตามทะเบียนที่แจ้งมาหรือไม่ หากเลขถูกก็ถือว่าถูก จะขยายความจุ ยืดข้อ เสริมเสื้อสูบ ยืดข้อ ใส่กลรองเปลือย เปลี่ยนเทอร์โบใหญ่ โมกล่องถึง 500 – 1,000 แรงม้าก็ไม่ผิดครับ แต่อุปกรณ์ในห้องเครื่องต้องแน่นหนา ปลอดภัย ถ้าจูนน้ำมันจนหนามา เจ้าหน้าที่จะวัดด้วยผลการตรวจควันดำ และค่า CO กับค่า HC เป็นตัวกำหนด (CO ค่าคาร์บอนมอนนอกไซด์, HC ค่าไฮโดรคาร์บอน) รถยนต์ที่จดทะเบียนก่อน 1 พ.ค. 2536 ต้องวัดค่า Co ไม่เกิน 4.5 เปอร์เซ็นต์ และค่า Hc ไม่เกิน 600 PPM ส่วนรถยนต์ที่จดทะเบียนหลัง 1 พ.ค. 2536 ต้องวัดค่า Co ไม่เกิน 1.5 เปอร์เซ็นต์ และค่า Hc ไม่เกิน 200 PPMครับ
รถเครื่องดีเซล ไม่ว่าจะเปลี่ยนอะไรยังไง ควันดำต้องไม่เกิน 50% โดยใช้เครื่องวัดแบบกระดาษกรอง กำหนดที่ 45% ด้วยเครื่องวัดความทึบแสง ดังนั้นไม่ว่าจะโมขนาดไหน หากระดับการเผาไหม่ผ่านก็ถือว่าถูกกฎหมายครับ
แบบนี้แล้ว ก็ระมัดระวังกันหน่อยนะครับสำหรับขาแต่งรถทั้งหลาย ก่อนจะแต่งอย่าลืมตรวจสอบรายละเอียดให้ถูกต้องตามกฎหมาย และมีความปลอดภัยมาเป็นอันดับแรกครับ
คุณมีประสบการณ์การแต่งรถรูปแบบอื่นๆมาบ้างไหมครับ? มาแบ่งปันกันในคอมเม้นด้านล่างได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น