วันพุธที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2561

รู้ไว้ใช้ว่า "จักรยานยนต์ 2 จังหวะ กับ 4 จังหวะ ดูอย่างไร

รู้ไว้ใช้ว่า "จักรยานยนต์ 2 จังหวะ กับ 4 จังหวะ ดูอย่างไรหนอ?"


เราคงเคยได้ยินเขาพูดกันว่า "เครื่องยนต์ 2 จังหวะ หรือ 4 จังหวะ" มันคืออะไร แล้วต่างกันตรงไหน วันนี้ CheckRaka.com มีวิธีดูเบื้องต้นง่ายๆ ที่บ่งบอกความแตกต่าง พร้อมข้อดี และข้อเสียมาฝากครับ
2 หรือ 4 จังหวะ ต่างก็มีรอบวัฏจักรการสันดาปภายในเหมือนกันนะครับ นั่นคือ ดูด (อากาศ) - อัด (อากาศ) - ระเบิด (จุดระเบิดด้วยหัวเทียน) และคาย (ไอเสียจากการเผาไหม้ออก)
เริ่มจากภายนอกสามารถดูด้วยตาได้เลย เพราะลักษณะภายนอกของเครื่องยนต์มอเตอร์ไซค์ 2 กับ 4 จังหวะ แตกต่างอย่างชัดเจน
จุดแรกที่สังเกตง่ายๆ นั่นคือ ตัวเสื้อสูบของเครื่องแบบ 4 จังหวะจะมีขนาดใหญ่กว่าแบบ 2 จังหวะ ในกรณีขนาดความจุและจำนวนลูกสูบเท่ากัน เพราะภายในเสื้อสูบของเครื่องแบบ 4 จังหวะมีส่วนประกอบมากชิ้นกว่า เช่น ระบบกลไกของวาล์วไอดี-ไอเสีย ก้านกระทุ้ง หรือโซ่ขับเพลาลูกเบี้ยว (แคมชาฟต์) เป็นต้น ส่วนเครื่องแบบ 2 จังหวะ ไม่มีระบบกลไกของวาล์ว มีเพียงท่อสำหรับคายไอเสียออกมาเท่านั้น แม้แต่ท่อดูดอากาศก็ไม่ได้อยู่ตรงส่วนของเสื้อสูบ แต่ไปอยู่ตัวห้องแครงด้านล่างแทน หรือดูตรงท่อดูดอากาศจากคาร์บูเรเตอร์เข้าบริเวณเสื้อสูบที่ตรงกันข้ามกับทางออกของท่อไอเสียหากเป็นเครื่อง 2 จังหวะจะไม่อยู่แนวระดับเดียวกัน แต่เครื่อง 4 จังหวะจะอยู่ระดับเดียวกันเสมอ ซึ่งสามารถดูได้ทั้งรุ่นที่ระบายความร้อนด้วยอากาศและน้ำครับ
ต่อมาก็ฟังเสียงที่แตกต่างชัดเจนมาก โดยเครื่องแบบ 4 จังหวะ จะนุ่มเงียบโทนต่ำและเสียงใหญ่ๆ (คล้ายๆ เครื่องคุโบต้า) เมื่อเร่งรอบสูงๆ จะคำรามดังทุ้มๆ ส่วนเครื่องแบบ 2 จังหวะ ออกโทนแหลมๆ แสบแก้วหู ที่เรียนว่า "แว้น" นั่นแหละครับ และขณะจอดติดเครื่องเบาๆ จะเดินไม่เรียบเดี๋ยวเร็วสลับช้าไม่เป็นจังหวะอีกด้วยครับ
แม้ระยะไกลก็แยกแยะได้ เนื่องจากเครื่อง 4 จังหวะ มักมีการเผาไหม้ที่สมบูรณ์มากกว่า (คล้ายเครื่องของรถยนต์) ดังนั้นจึงแทบไม่มีควันออกมาจากท่อเสียเลย (กรณีเครื่องที่ยังฟิตสตาร์ทติดง่าย) ส่วนเครื่อง 2 จังหวะ ควันขาวมาแต่ไกล เพราะการเผาไหม้ของเครื่อง 2 จังหวะต้องอาศัยน้ำมันเครื่องชนิดพิเศษที่เรียกว่า "ออโต้ลูบ" เข้าไปหล่อลื่นชิ้นส่วนภายในพร้อมกับถูกเผาไหม้ปนออกมากับไอเสียอีกทีครับ ก่อมลพิษสูงมากๆ
ตำแหน่งติดตั้งหัวเทียน โดยทั่วไปเครื่องยนต์ 4 จังหวะจำเป็นต้องติดตั้งหัวเทียนไว้ด้านของส่วนของฝาสูบ เพื่อหลบระบบควบคุมวาล์วที่อยู่ส่วนบนของฝาสูบ ส่วนเครื่อง 2 จังหวะ สามารถติดตั้งส่วนบนสุดของฝาสูบได้เลย เพราะไม่มีระบบควบคุมวาล์ว จึงเป็นจุดสังเกตเบื้องต้นที่ง่ายที่สุดอีกจุดหนึ่งครับ
อีกจุดที่สังเกตง่ายๆ นั่นคือ ระบบสตาร์ตเครื่องยนต์ 4 จังหวะจะสามารถใช้ได้ทั้ง สตาร์ตด้วยเท้า และปุ่มกดไฟฟ้าอาศัยมอเตอร์หมุนให้เครื่องติด ส่วนเครื่อง 2 จังหวะมักสตาร์ตด้วยเท้าอย่างเดียว ยกเว้นรุ่นที่มีเครื่องขนาดใหญ่หรือ 2 สูบขึ้นไปอาจมีระบบมอเตอร์ช่วยสตาร์ต ซึ่งอาจเป็นเพราะเทคโนโลยีการสตาร์ตในสมัยก่อนที่ยังไม่ถูกพัฒนาก็เป็นได้ครับ
ข้อดีและข้อเสียโดยทั่วไปของเครื่องยนต์ทั้ง 2 และ 4 จังหวะ
แบบ 2 จังหวะ 
ข้อดี ออกตัวได้รวดเร็ว อัตราเร่งดี ลากรอบเครื่องยนต์ได้สูง ชิ้นส่วนเคลื่อนไหวน้อย ดูแลรักษาง่าย ปรับแต่งไม่มากก็แรงได้
ข้อเสีย การสึกหรอสูง ควันขาวก่อมลพิษ เสียงดังมาก ไม่ทนทานเท่าแบบ 4 จังหวะ เครื่องเดินไม่เรียบ กินน้ำมันมากกว่า มีข้อจำกัดในการปรับแต่ง เมื่ออายุใช้งานนานๆ ชิ้นส่วนภายในเกิดคราบเขม่าจากการใช้ออโต้ลูป อาจเกิดความเสียหายได้
แบบ 4 จังหวะ 
ข้อดี ประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิง (ปัจจุบันเริ่มนิยมใช้ระบบจ่ายเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีดอิเล็กทรอนิกส์) รอบเครื่องเดินเรียบ เสียงเบา ดูแลรักษาง่ายเช่นกัน ปรับแต่งได้มากกว่า แรงบิดคงที่ ไม่มีควันขาว มลพิษต่ำ 
ข้อเสีย ชิ้นส่วนมากย่อมมีค่าใช้จ่ายบำรุงรักษามากตามมาด้วย ลากรอบได้ไม่สูงเท่าเครื่อง 2 จังหวะ (แต่ในรถสมรรถนะสูงๆ ลากได้เกินหมื่นรอบ/นาทีขึ้นไป) เสียงจะดังมากขึ้นหากปรับแต่งท่อไอเสีย
จากวิธีสังเกตเบื้องต้นในการแยกแยะรถจักรยานยนต์แบบ 2 กับ 4 จังหวะ และข้อดี-ข้อเสียเบื้องต้นของเครื่องยนต์ทั้ง 2 แบบนี้ อาจเป็นประโยชน์เพื่อสามารถนำไปเลือกซื้อทั้งรถจักรยานยนต์ทั้งมือหนึ่งหรือมือสองได้อย่างไม่ต้องกังวลครับ เพราะจักรยานยนต์บางค่ายผลิตออกมารูปทรงคล้ายรถแบบ 4 จังหวะ แต่ยังใช้เครื่องแบบ 2 จังหวะก็มี "รู้ไว้ใช้ว่านะครับ"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น